ประวัติวัดทางหลวง
วัดทางหลวง ตั้งอยู่เลขที่ ๑๓๒ ถนนกรุงเทพฯ – นนท์ หมู่ที่ ๖ ตำบลบางเขน อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ ๕ ไร่ ๒ งาน โฉนดที่ดินเลขที่ ๒๑๔๓๒๐ พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบลุ่ม อยู่ริมคลองบางเขน ทิศใต้เชื่อมต่อกับกรุงเทพมหานคร ทางเข้าวัดมีถนนซอยวัดทางหลวง เป็นทางสัญจรได้สะดวก
วัดทางหลวง เป็นวัดเก่าแก่ ตั้งขึ้นประมาณในสมัยอยุธยา นามว่า “วัดใหม่” และได้กลายเป็นวัดร้าง ครั้นเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๗๑ ชาวบ้านได้ช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ โดยมีพระภิกษุพิมพ์ ซึ่งมาจากภาคอีสาน เป็นผู้ปกครองดูแลวัด พ.ศ.๒๔๗๕ พระมหาจันดี ศิริพลัง มาจากวัดสระเกศวรวิหาร ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส พ.ศ. ๒๔๗๘ ได้เปลี่ยนชื่อวัดใหม่ เป็น “วัดทางหลวง” โดยนำชื่อมาจากทางหลวงแผ่นดินสายกรุงเทพฯ - นนทบุรี ที่ติดกับวัด และเป็นทางหลวงสายแรกของจังหวัดนนทบุรี ต่อมาพระมหาจันดีลาสิกขา พ.ศ.๒๔๙๔ ได้นิมนต์พระครูสมุห์ บุญไทย อุทโย จากวัดสระเกศวรวิหาร มาเป็นเจ้าอาวาสแทน พ.ศ. ๒๕๑๕ พระครูสมุห์บุญไทย ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระครูนนทกิจประสาธก์ พ.ศ.๒๕๒๕ พระครูนนทกิจประสาธก์มรณภาพลง พระครูสังฆรักษ์ไผ่ สุขวฑฺฒโน ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในปี พ.ศ.๒๕๒๕ จนถึงปัจจุบัน ต่อมา ในปี พ.ศ.๒๕๓๕ ได้รับพระราชทานพระครูสัญญบัตร ที่ พระครูสุวัฒน์นนทคุณ ในปี พ.ศ.๒๕๕๑ พระครูสุวัฒน์นนทคุณมรณภาพลง และในปี ๒๕๕๒ คณะสงฆ์ได้แต่งตั้งให้ พระมหาสุธน สุธโน (ทั่งทอง) เป็นเจ้าอาวาสวัดทางหลวงสืบต่อมา
วัดทางหลวงได้รับพระราชทาานวิสุงคามสีมา ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๕ ต่อมา เมื่ออุโบสถทรุดโทรมลง พระครูสังฆรักษ์ไผ่ เจ้าอาวาส ร่วมกับพระสงฆ์ และชาวบ้าน ได้สร้างอุโบสถขึ้นใหม่ในปี พ.ศ.๒๕๒๗ และได้รับพระราชทาานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๑ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๔๐ เมตร
ปัจจุบัน วัดทางหลวง มีพระภิกษุจำพรรษา ๑๑ รูป ลูกศิษย์วัด ๑ คน
๑. เจ้าอาวาส
ชื่อ พระมหาสุธน สุธโน (ทั่งทอง)
ภูมิลำเนา บ้านวังควง ต.วังควง อ.พรานกระต่าย จ.กำแพงเพชร
วันเกิด ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๑๒ (ปีระกา)
บรรพชา ๙ เมษายน ๒๕๒๕
อุปสมบท ๘ เมษายน ๒๕๓๒
วิทยฐานะ น.ธ.เอก, ป.ธ. ๓, พธ.บ. (ปริญญาตรี พุทธศาสตร์บัณฑิต), ค.ม. (ปริญญาโท ครุศาสตร์มหาบัณฑิต)
ตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ วัดทางหลวง ต.บางเขน อ.เมืองนนทบุรี ๒๑ เมษายน ๒๕๕๒
๒. อาณาเขต
ทิศเหนือ จดลำประโดง
ทิศใต้ จดซอยกรุงเทพ ฯ - นนท์ ๒
ทิศตะวันออก จดคลองบางเขน
ทิศตะวันตก จดโรงเรียนวัดทางหลวง
๓. อาคารเสนาสนะประกอบด้วย
อุโบสถ กว้าง ๑๕ เมตร ยาว ๒๘ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗ เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก
ศาลาการเปรียญ กว้าง ๒๒ เมตร ยาว ๔๐ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๒ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กทรงไทย ๒ ชั้น
หอสวดมนต์ กว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๒๒ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ เป็นอาคารไม้
กุฏิสงฆ์ จำนวน ๑ หลัง เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ ล้อมรอบหอสวดมนต์วิหาร กว้าง ๑๘ เมตร ยาว ๑๒ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๒ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก
ศาลาบำเพ็ญกุศล จำนวน ๓ หลัง เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก
นอกจากนี้ ยังมีฌาปนสถาน ๑ หลัง หอระฆัง ๑ หลัง กุฏิเจ้าอาวาสอยู่ภายในหลังเดียวกันกับกุฏิสงฆ์หลังอื่นๆ
๔. ปูชนียวัตถุ
๑. พระประธานประจำอุโบสถ ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตัก กว้าง ๒๙ นิ้ว สูง ๔๕ นิ้ว สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗
๒. พระประธานประจำศาลาการเปรียญ ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง ๒๔ นิ้ว สูง ๓๖นิ้ว สร้างเมื่อพ.ศ.๒๕๒๒
๓. รอยพระพุทธบาทจำลอง กว้าง ๒๒ นิ้ว สูง ๕๖ นิ้ว สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐
๔. พระพุทธโสธรจำลอง หน้าตักกว้าง ๔๘ นิ้ว สูง ๕๖นิ้ว สร้างเมื่อพ.ศ.๒๕๓๓
๕.รูปหล่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังษี) หน้าตักกว้าง ๒๔ นิ้ว สูง ๓๖ นิ้ว สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๓
๖. รูปหล่อพระครูนนทกิจประสาธก์ อดีตเจ้าอาวาส สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๓
๕. การบริหารและการปกครอง
มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม คือ
๑. พระมหาจันดี ศิริพลัง พ.ศ. ๒๔๗๕ ถึง พ.ศ.๒๔๙๔
๒. พระครูนนทกิจประสาธก์ พ.ศ. ๒๔๙๔ ถึง พ.ศ.๒๕๒๕
๓. พระครูสุวัฒน์นนทคุณ พ.ศ. ๒๕๒๕ ถึง พ.ศ.๒๕๕๑
๔. พระมหาสุธน สุธโน พ.ศ.๒๕๕๒ ถึง ปัจจุบัน
๖. การศึกษา
ทางวัดได้เปิดสอนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม เริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๐ นอกจากนี้ยังได้สนับสนุนการศึกษาของชาติโดยให้ทางราชการสร้างโรงเรียนสอนระดับประถมศึกษา ชื่อ โรงเรียนวัดทางหลวงโพธิ์ทอง ทางวัดจัดมอบทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียนที่เรียนดี แต่ขาดทุนทรัพย์ เป็นประจำทุกปี และมีครูพระเข้าไปสอนในโรงเรียนในแต่ละปีการศึกษา ในปี พ.ศ.๒๕๕๒ ได้อนุญาตให้ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนนนทบุรีมาใช้สถานที่โรงเรียนพระปริยัติธรรมเป็นที่ทำการเรียนการสอน
********************